นิยามและความสำคัญของทรัพยากรที่ดิน

นิยามและความสำคัญของทรัพยากรที่ดิน

ที่ดิน (Land)

                      ดุสิต (2530) ที่ดิน หมายถึง ส่วนประกอบต่างๆ ทางกายภาพของสิ่งแวดล้อม (physical environment) ทั้งหมดของพื้นแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วย บรรยากาศที่อยู่เหนือพื้นดิน (atmosphere) ดิน (soils) น้ำ (water) หิน (rocks) สภาพภูมิประเทศ (topography) พืชและสัตว์ (plants and animals) และผลของการกระทำของมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน (past and present human activity) ส่วนประกอบเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการใช้ประโยชน์โดยมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
                     FAO (1993) ที่ดิน หมายถึง พื้นที่หนึ่งๆ ที่อยู่บนพื้นผิวของโลก ประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ คือ สภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพซึ่งมีอิทธิพลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนั้นที่ดินจึงไม่ได้หมายถึงดินเพียงอย่างเดียวแต่จะหมายรวมถึงลักษณะภูมิสัณฐาน (landforms) ภูมิอากาศ (climate) อุทกวิทยา (hydrology) พืชพรรณ (vegetation) และสัตว์ (fauna) ซึ่งการปรับปรุงที่ดิน (land improvement) ได้แก่ การทำขั้นบันไดและการระบายน้ำ เป็นต้น


ดิน; เนื้อดิน (Soil)
               
               ดุสิต (2530) ดิน หมายถึง ชั้นดินบนพื้นผิวโลก กำเนิดมาจากการสลายตัวของหินและแร่ผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ มีแร่ธาตุ อากาศ น้ำ และ อินทรียวัตถุเป็นองค์ประกอบ ใช้ประโยชน์ในการผลิตพืชผลทางการเกษตร ป่าไม้ และอื่นๆ ดินเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์มาก 
              คณาจารย์ (2544) ดินมี 2 ความหมาย ตามแนวทางในการศึกษาดิน
                        1) ปฐพีวิทยาธรรมชาติ (pedology) ดิน หมายถึง เทหวัตถุธรรมชาติ (natural body) ที่ปกคลุมผิวโลกอยู่บางๆ เกิดขึ้นจากผลของการแปรสภาพหรือผุพังของหินและแร่ และอินทรียวัตถุผสมคลุกเคล้ากัน
                        2) ปฐพีวิทยาสัมพันธ์ (edaphology) ดิน หมายถึง เทหวัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติรวมกันขึ้นเป็นชั้น (profile) จากส่วนผสมของแร่ธาตุต่างๆ ที่สลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกับอินทรียวัตถุที่เปื่อยผุพัง อยู่รวมกันเป็นชั้นบางๆ ห่อหุ้มผิวโลก และเมื่อมีอากาศและน้ำเป็นปริมาณที่เหมาะสมแล้วจะช่วยค้ำจุนพร้อมทั้งช่วยในการยังชีพและการเจริญเติบโตของพืช
              ราชบัณฑิตยสถาน (2544) ดินสามารถอธิบายความหมายได้ 2 ลักษณะ คือ
                       1) ทางธรณีวิทยา ดิน หมายถึง มวลวัสดุที่เกิดจากการผุพังของผิวเปลือกโลกจากหินหรือชั้นตะกอนและยังไม่จับตัวกัน วางตัวบนหินดาน


                       2) ทางปฐพีศาสตร์ ดิน หมายถึง เทหวัตถุธรรมชาติที่ปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ เกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ ซึ่งประกอบด้วยอินทรียวัตถุ 

อนินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ เป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ดินมีลักษณะและสมบัติแตกต่างกันไปในที่ต่างๆ ของโลกเนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ คือ ภูมิอากาศ วัตถุต้นกำเนิด สภาพภูมิประเทศ พืชพรรณ สิ่งมีชีวิต และระยะเวลา
              Soil Survey Staff (2006) ดิน หมายถึง วัสดุธรรมชาติที่ประกอบด้วยส่วนที่เป็นของแข็ง (แร่และอินทรียวัตถุ) ของเหลว และก๊าซที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวดินทั่วทั้งพื้นที่และมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด ดังนี้คือ มีชั้นดิน (horizons) ที่มีลักษณะแตกต่างจากวัสดุเริ่มแรก เกิดจากกระบวนการสะสม (additions) สูญเสีย (losses) เคลื่อนย้าย (transfers) และเปลี่ยนรูป (transformations) ทั้งพลังงานและเนื้อวัสดุ หรือเป็นวัสดุที่ช่วยในการค้ำจุนรากพืชในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

พื้นที่ลักษณะภูมิประเทศ (Terrain)

               ดุสิต (2530) พื้นที่ในทางวิศวกรรมและในทางทหาร หมายถึง ที่ดินเหมือนกันแต่บางครั้งมักจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงยังสัณฐานภูมิประเทศ (landform) ในที่ดินนั้นหรือสภาพของชั้นดินและหินของที่ดินนั้น 
              ราชบัณฑิตยสถาน (2544) ลักษณะภูมิประเทศ หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศบริเวณใดบริเวณหนึ่งของพื้นผิวโลก ที่มีรูปร่างลักษณะทางกายภาพ เช่น ความสูง ความลาดชัน เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ลักษณะภูมิประเทศเป็นเขา (hilly terrain) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา (mountainous terrain)

ธรณีสัณฐานภูมิสัณฐาน (Landfrom)

               ราชบัณฑิตยสถาน (2544) ธรณีสัณฐาน หมายถึง แบบรูปหรือลักษณะของเปลือกโลกที่มีรูปพรรณสัณฐานต่างๆ กัน เช่น ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบ และอื่นๆ การศึกษาเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ เรียกว่า ธรณีสัณฐานวิทยา
               เอิบ (2542) ภูมิสัณฐานมีอิทธิพลต่อการเกิด และการใช้ประโยชน์ของดินมาก และสามารถใช้เป็นลักษณะทางกายภาพที่ชี้บ่งว่าขอบเขตของหน่วยดินแต่ละชนิดจะอยู่ ณ ที่ใดได้ด้วย การศึกษาภูมิสัณฐานเป็นสาขาวิชาหนึ่ง เรียกว่า ธรณีสัณฐานวิทยา ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวางมาก

น้ำ (Water)
                         
               นิวัติ (2546) น้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีการหมุนเวียนเคลื่อนที่จากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงจากสถานะหนึ่งไปเป็นอีกสถานะหนึ่ง เช่น เป็นของแข็ง ของเหลว และเป็นไอน้ำ เป็นต้น การหมุนเวียนเปลี่ยนไปของน้ำนี้เรียกว่า วัฎจักรของน้ำ น้ำจากทะเลและมหาสมุทรซึ่งมีพื้นที่สามในสี่ของพื้นที่ผิวโลก ได้ถูกแผดเผาจนกลายเป็นไอระเหยขึ้นสู่บรรยากาศ จับตัวกันเป็นก้อนเมฆและถูกพัดพาไปกระทบความเย็นแล้วกลายเป็นฝนตกลงสู่พื้นโลก ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมานี้ภายหลังที่ถูกต้นไม้สกัดกั้นและถูกดินดูดซับจนชุ่มแล้ว ส่วนที่เหลือจะพากันไหลไปตามผิวหน้าดินลงสู่ที่ต่ำไปสู่ห้วยธารต่างๆ น้ำจำนวนนี้เองที่มีส่วนทำให้ดินพังทลายและเป็นสาเหตุของการเกิดน้ำท่วม ส่วนน้ำที่ดินดูดซับเอาไว้บางส่วนจะกลับระเหยหายไป บางส่วนจะสะสมไว้เป็นความชื้นในดินซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช บางส่วนก็จะไหลลงไปเป็นน้ำใต้ดิน และค่อยๆ ระบายออกสู่ลำธาร ทำให้ลำธารมีน้ำหล่อเลี้ยงไหลอยู่ได้ตลอดปีแม้ฤดูแล้งที่ฝนไม่ตกก็ยังมีน้ำไหล และที่สุดน้ำทั้งหมดก็จะพากันไหลลงสู่แม่น้ำออกสู่ทะเล มหาสมุทร และกลับระเหยกลายเป็นไอหมุนเวียนต่อไปอีกโดยไม่มีที่สิ้นสุด

พืชพรรณ (Vegetation)

               สวัสดิ์ (2546) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ หมายถึง ที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายที่ดิน
               ป่าไม้ หมายถึง บริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิด ขนาดต่างๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและกว้างใหญ่พอที่จะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น เช่น ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ มีสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน


สัตว์ (Animal)

               ปรีชาและนงลักษณ์ (2546) สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรชนิดที่เกิดขึ้นทดแทนและรักษาให้คงอยู่ได้ (replaceable and maintainable) เมื่อปล่อยให้สูญพันธุ์ไปแล้วไม่อาจหาพันธุ์อื่นมาทดแทนเหมือนพันธุ์เดิมได้ ดังนั้นจะต้องมีการสงวนพันธุ์ไว้มิให้ถูกทำลายจนสูญพันธุ์ไป ดังเช่น สมันหรือเนื้อสมัน (Cervus schomburgkiและแรด (Rhinoceros sondaicusเป็นต้น นอกจากนั้นยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า เช่น ควายป่า กระซู่ โคไพร เนื้อทราย ละองหรือละมั่ง เลียงผ่า และกวางผา เป็นต้น

แร่และหิน (Mineral and Rock)

               ราชบัณฑิตยสถาน (2544) ด้ให้ความหมายของหินและแร่ ดังนี้
                       แร่ หมายถึง ธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีโครงสร้างภายในที่เป็นระเบียบ มีสูตรเคมีและสมบัติอื่นๆ ที่แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัด
                       หิน หมายถึง มวลของแข็งที่ประกอบด้วยแร่ชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ หินอัคนี (igneous rock) หินชั้นหรือหินตะกอน (sedimentary rock) และหินแปร (metamorphic rock)
               นิวัติ (2546) แร่เป็นทรัพยากรประเภทที่ไม่งอกเงยขึ้นมาใหม่ได้ เมื่อขุดเจาะและนำมาใช้ประโยชน์แล้วจะสิ้นเปลืองหมดไปในที่สุด ส่วนพื้นดินบริเวณที่ทำแร่ไปแล้วก็มักจะเสื่อมคุณค่าทำประโยชน์อันใดมิได้ การที่จะฟื้นฟูให้พื้นที่นั้นกลับสู่สภาพเดิมจำต้องลงทุนสูง บางครั้งก็ไม่แน่นักว่าเงินทุนที่ใช้ในการปรับปรุงเพื่อให้พื้นดินกลับสู่สภาพเดิม หรือเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาจจะมากกว่าราคาแร่หรือผลกำไรที่ได้จากการทำเหมืองแร่นั้นๆ ก็ได้ เหตุนี้พื้นที่หลังการทำเหมืองจึงถูกปล่อยให้เป็นเหมืองร้างเสียเป็นส่วนมาก


มนุษย์ (Human)
          
                ดุสิต (2530) มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติของที่ดินอย่างหนึ่งโดยอาศัย ใช้ประโยชน์จากพลังงานทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น แรงงาน ซึ่งก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนที่ดินนั้นอย่างมาก 
                นิวัติ (2546) มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติและต่อสังคม โดยอาศัยกำลังงานที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ และกำลังที่ว่านี้เป็น สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นๆ จึงถือได้ว่ากำลังงานมนุษย์ เป็นทรัพยากรธรรมชาติ (human power as natural resoures)
               สวัสดิ์ (2546) มนุษย์ คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่ถือกำเนิดบนโลกนับล้านปีมาแล้ว มีโครงสร้างพื้นฐานของร่างกายและความต้องการในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับสัตว์ทั่วไป แต่มีวิวัฒนาการทางสติปัญญาสูงกว่า มีสมองขนาดใหญ่จึงรู้จักคิด จดจำและควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าสัตว์อื่น สามารถคิดสัญลักษณ์ ภาษา หรือวิชาความรู้ต่างๆ รู้จักวางแผนและปรับตัวเพื่อเอาชนะอุปสรรคอันตราย รู้จักควบคุมชีวิตพืชและสัตว์ รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิติจนสามารถอยู่รอดและแพร่เผ่าพันธุ์ออกไปทั่วโลก มนุษย์จึงถือว่าตนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐกว่าสัตว์อื่น

การใช้ที่ดิน (Land use)

               ดุสิต (2530)การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดิน เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งทางด้านวัตถุหรือจิตใจหรือทั้งสองอย่าง ซึ่งเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่กระทำต่อทรัพยากรที่ดินต่างๆ การใช้ที่ดินอาจจะเป็นการใช้ที่ดินในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ได้
                กองวางแผนการใช้ที่ดิน (2535) ในการประเมินคุณภาพที่ดินสิ่งที่จะต้องมาเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ ได้แก่ การใช้ที่ดินซึ่งอธิบายได้ในรูปของชนิดการใช้ที่ดิน (kinds of land use) และความต้องการปัจจัยในการใช้ที่ดิน (land use requirements) ชนิดการใช้ที่ดินของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย สามารถจำแนกเป็น 9 ประเภทหลัก คือ พืชอาหาร (food crops), พืชหัว (root crops), พืชน้ำมัน (oil crops), พืชน้ำตาล (sugar producing crops), ผลไม้และพืชผัก (fruit and vegetable crops), พืชเส้นใย (fiber producing crops), พืชที่ใช้ทำเครื่องดื่ม (beverage crops), พืชอุตสาหกรรม (industrial crops) และหญ้าเลี้ยงสัตว์ (pasture)
                  สุรีย์ (2544) การใช้ที่ดิน คือ ลักษณะกายภาพบนพื้นที่ดินอันเป็นผลมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ การใช้ที่ดินเกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์มีความต้องการในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย รวมทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจ และอื่นๆ เพื่อที่จะสนองความต้องการดังกล่าวมนุษย์จึงต้องเปลี่ยนแปลงหรือปลูกสร้างสิ่งต่างๆ เช่น บ้านเรือน ถนน วัด โรงเรียน พื้นที่เพาะปลูก ร้านค้า ฯลฯ การใช้ที่ดินสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
               1) การใช้ที่ดินในชนบท ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร เช่น ที่นา ที่ปลูกพืชไร่ ที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และที่ป่า เป็นต้น
          2) การใช้ที่ดินในเมือง เนื่องจากกิจกรรมในเมืองมีหลากหลายประเภท ดังนั้น การใช้ที่ดินในเมืองจึงมีมากประเภทกว่าการใช้ที่ดินแบบชนบท ในพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากันในเขตชนบทอาจใช้ทำการเพาะปลูกพืชเพียงอย่างเดียว แต่ในเขตเมืองอาจจะมีการใช้ที่ดินหลายประเภท เช่น เป็นที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ร้านค้า ร้านบริการต่างๆ
                   FAO (1993) การใช้ที่ดิน หมายถึง การจัดการที่ดินตามที่มนุษย์ต้องการ ซึ่งรวมทั้งการใช้ที่ดินในชนบท เขตชานเมือง และเขตอุตสาหกรรม เป็นต้น


นโยบายที่ดิน (Land policy)

               วรรณี (2546) นโยบายที่ดิน หมายถึง แนวปฏิบัติหรือวิธีการที่จะทำให้ที่ดินบังเกิดผลดีมีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวมมากที่สุด นโยบายอาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ รัฐจำเป็นที่จะต้องวางแผนกำหนดนโยบายและแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้แน่นอนและเด่นชัด เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการผลิตเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อกิจการต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าไม่มีนโยบายและแผนการใช้ที่ดินปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ การใช้ที่ดินไม่ถูกต้องตามคุณภาพของที่ดิน มีการบุกรุกทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธารเพื่อนำมาใช้เป็นที่เพาะปลูก มีการใช้ที่ดินที่เหมาะสมต่อการเกษตรไปในกิจการอื่นๆ เช่น เป็นแหล่งอุตสาหกรรมชุมชนหรือขยายเป็นตัวเมือง และการขยายตัวเมืองก็อาจจะไม่เป็นระเบียบ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาอุทกภัย ปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกร ปัญหาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เป็นต้น
               ในการกำหนดนโยบายและแผนการใช้ที่ดินควรจะเป็นแผนงานระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและการตัดสินใจในอนาคตเกี่ยวกับการใช้ที่ดินให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

วิวัฒนาการของการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Evolution of land use)

               นิวัติ (2547) วิวัฒนาการของการใช้ประโยชน์ที่ดิน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง หรือเป็นอีกหลายๆ รูปแบบ เช่น การเปลี่ยนแปลงจากที่ดินป่าไม้ไปเป็นพื้นที่เกษตร เมือง แหล่งน้ำ และถนนหนทาง หรือจากพื้นที่เกษตรไปเป็นเมือง ถนนหนทาง และแหล่งน้ำ เป็นต้น

ประเภทของการใช้ที่ดิน (Land utilization type)

               ดุสิต (2530) ประเภทของการใช้ที่ดินเป็นแบบของการใช้ที่ดินที่เฉพาะเจาะจง เช่น การใช้ที่ดินเพื่อเพาะปลูกพืชอย่างใดอย่างหนึ่ง การใช้ที่ดินเพื่อเป็นแหล่งอุตสาหกรรม การใช้ที่ดินเพื่อทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
              กองวางแผนการใช้ที่ดิน (2535) ประเภทของการใช้ที่ดินเป็นชนิดหรือระบบการใช้ที่ดินที่กล่าวถึงสภาพการผลิตและเทคนิคในการดำเนินการในการใช้ที่ดิน ทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ ชนิดพืชที่ปลูก เงินทุน แรงงาน เครื่องจักร ขนาดฟาร์ม ลักษณะถือครองที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการการจัดการ วัสดุที่ใช้ในฟาร์ม เป้าหมายของการผลิต ผลผลิต ผลตอบแทนที่ได้รับ เป็นต้น


การใช้ที่ดินสำคัญ (Major kind of land use)

               ดุสิต (2530) การใช้ที่ดินอย่างหนึ่งในสองสามอย่างสำหรับการใช้ที่ดินสำคัญ เช่น การปลูกพืชไร่โดยอาศัยน้ำฝน การทำการเกษตรโดยใช้การชลประทาน การทำสวนป่า ทุ่งหญ้าธรรมชาติ และสถานที่พักผ่อน

การใช้ที่ดินร่วมกัน (Combined use)

               ดุสิต (2530) การใช้ที่ดินร่วมกันมากกว่าหนึ่งชนิดของการใช้ที่ดินสำคัญ เช่น การใช้ที่ดินเพื่อปลูกพืชไร่และทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในไร่นาเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ที่ดินในไร่นาหนึ่งๆ หลายอย่างรวมกัน

การใช้ที่ดินแบบต่างๆ บนพื้นที่เดียวกัน (Multiple use)

               ดุสิต (2530) การใช้ที่ดินหลายแบบของการใช้ที่ดินที่สำคัญในพื้นที่เดียวกัน เช่น การใช้พื้นที่เพื่อทำป่าไม้ อนุรักษ์สัตว์ป่า และเป็นสถานที่พักผ่อนด้วย

การใช้ที่ดินไม่อาจเปลี่ยนการใช้กลับได้ (Irreversible use)

               ดุสิต (2530) การใช้ที่ดินแล้วไม่สามารถที่จะเปลี่ยนกลับมาใช้แบบเดิมได้ เช่น ที่ดินป่าไม้เดิมหรือที่ดินที่ชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ มีการจับจองตั้งบ้านเรือนต่างๆ หรือเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงกลับไปใช้ที่ดินแบบเดิมได้เนื่องจากเป็นการใช้ที่ดินอย่างถาวร

การใช้ที่ดินที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Reversible use)

               ดุสิต (2530) การใช้ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาได้ เช่น ที่ดินที่เป็นป่าไม้เปลี่ยนไปเป็นที่เพาะปลูกต่างๆ หรือจากที่เพาะปลูกเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ สวนป่าหรือป่าไม้ เป็นต้น




 ที่มา: mis.agri.cmu.ac.th

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน

แนวคิดเบื้องต้นการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (BASIC LAND-USE PLANNING)

Capture + รายชื่อผู้จัดทำ

วิดีโอความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทำแผนที่การใช้ที่ดิน